ตรวจรับบ้าน ควรตรวจอะไรบ้าง


ตรวจรับบ้าน ควรตรวจอะไรบ้าง


ตรวจรับบ้าน ควรตรวจอะไรบ้าง

ในการตรวจรับบ้านควรตรวจสอบเป็นพื้นที่ ๆ ไป โดยใช้วิธีกวาดตาเดินตรวจบ้านไล่ไปทีละพื้นที่ จากหน้าบ้านแล้วเดินไปรอบบ้านในทิศทางเดียวกันทีละส่วน ไม่เดินย้อนกลับไปกลับมา เสร็จแล้วจึงไล่เข้าไปภายในบ้านทีละห้อง ๆ โดยแบ่งเป็น 9 ส่วน ดังนี้

1. พื้นที่นอกบ้าน

การตรวจรับบ้านควรไล่ไปตั้งแต่รั้วและประตูบ้าน เช็กดูว่าสามารถใช้ได้ได้อย่างปกติหรือไม่ บานประตูและรางเลื่อนต้องไม่ฝืด เมื่อเปิดค้างต้องไม่ไหล มีการทาสีกันสนิม รั้วบ้านจะต้องไม่เอียง ไม่ล้ม ไม่มีรอยร้าว สีที่ทาต้องดูเรียบร้อยสวยงาม ในส่วนของสวน ดินที่ถมรอบบ้านจะต้องถมเต็มพื้นที่ มีการปรับระดับของดินให้เรียบ ไม่ควรให้ปลูกหญ้าทันที เพราะจะทำให้วันที่ตรวจรับบ้านไม่สามารถตรวสอบสภาพดินเดิมได้ว่ามีเศษปูนมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญของการตรวจรับบ้านในพื้นที่นอกบ้าน คือการระบายน้ำภายนอกว่าจุดระบายน้ำหรือไม่ ถ้าสามารถเข้าตรวจสอบหลังฝนตกใหม่ ๆ ได้ยิ่งดี จะเห็นปัญหาอย่างชัดเจนว่าน้ำไหลไปในทางทิศทาง ใด รวมถึงที่จอดรถ ควรตรวจสอบการลาดเอียงของพื้น เพื่อป้องกันน้ำขังและปัญหาพื้นทรุดที่พบได้บ่อย

2. โครงสร้าง

สำหรับเรื่องโครงสร้างนับว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการตรวจรับบ้าน ปัญหาที่พบได้บ่อยสุดคือ บ้านร้าวหรือรอยแตกต่าง ๆ ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วน รวมถึงโครงสร้างหลักอย่าง เสา คาน ต้องไม่คดงอ ไม่โค้ง ไม่แอ่น โครงสร้างเหล็กต้องมีการทาสีกันสนิม สีจะต้องเคลือบผิวเหล็กโครงเต็มพื้นที่เพื่อป้องกันอากาศสัมผัสผิวเหล็ก ก่อให้เกิดสนิม ส่วนโครงสร้างไม้ต้องทาด้วยน้ำยากันปลวกทุกด้านของไม้ ไม่มีรอยผุ ควรตรวจสอบเหนือฝ้าเพดานในช่วงเช้าเพราะถ้าสาย เหนือฝ้าเพดานจะมีอุณหภูมิที่สูงมาก

3. หลังคา

การตรวจรับบ้านในส่วนของหลังคาให้สังเกตรอยน้ำรั่วต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะมาตามบริเวณฝ้าเพดานชั้นบน หรือปีนขึ้นไปเหนือฝ้าเพดานจากภายใน สังเกตผิวใต้หลังคา บริเวณใดที่มีแสงสว่างจากภายนอกลดเข้ามาข้างในอย่างชัดเจน แสดงว่าบริเวณนั้นอาจจะมีจุดที่ฝนรั่วเข้ามาภายในได้ ส่วนสีที่ทาฝ้าภายนอกต้องเรียบเนียน ไม่เป็นคลื่นหรือปูดบวม

4. พื้นภายใน

พื้นภายในเป็นส่วนที่เราต้องตรวจสอบให้ดีเมื่อมีการตรวจรับบ้านก่อนโอน เพราะเราต้องสัมผัสมากที่สุด ทำได้โดยเดินสำรวจไปรอบ ๆ พื้นที่ พื้นผิวจะต้องเรียบ เวลาเดินต้องไม่มีสะดุด ต้องไม่แอ่นตัวหรือปูดนูนขึ้นมา ตรวจสอบโดยใช้ลูกแก้วกลิ้งบนพื้นที่นั้น ถ้าความลาดเอียงไม่มากพอ น้ำจะไหลไม่สะดวก อีกทั้งปูนใต้วัสดุปูพื้นจะต้องแน่น ถ้าปูนใต้พื้นไม่เต็ม เวลาเดินเราจะรู้สึกถึงโพรงหรือช่องว่างใต้พื้น การตรวจสอบวัสดุปูพื้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด

5. ผนัง

ในการตรวจรับบ้าน ผนังจัดว่าเป็นส่วนที่มีพื้นผิวมากที่สุด ดูการฉาบปูนว่ามีความเรียบสม่ำเสมอกันไหม ไม่มีส่วนใดปูดหรือเป็นหลุม ตรวจระนาบของปูนฉาบด้วยการใช้ไม้ตรงยาว ๆ ทาบลงผวปูนฉาบว่าผนังเรียบเพียงใด และจะต้องไม่มีรอยแตกร้าว อีกทั้งดูการทาสีว่าสม่ำเสมอมากน้อยเพียงใด

6. ฝ้าเพดาน

ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุด เมื่อตรวจรับบ้านก็ไม่ควรที่จะเลย ตรวจสอบด้วยการกวาดสายตาไปรอบ ๆ อย่างทั่วถึง ฝ้าเพดานจะต้องเรียบ ได้ระดับกันทั้งห้อง ถ้าเป็นฝ้าแบบฉาบเรียบจะต้องไม่เห็นรอยยาแนวของแผ่น ควรเรียบเนียนไปกับส่วนอื่น ๆ ของฝ้า ส่วนฝ้าทีบาร์ต้องเรียบสม่ำเสมอ เส้นทีบาร์ต้องไม่เกยกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นกับเส้นทีบาร์

7. ช่องเปิด

ช่องเปิดต่าง ๆ ของบ้าน ได้แก่ ช่องประตู ช่องหน้าต่าง ช่องระบายอากาศ บานเกล็ด เป็นส่วนที่เวลาตรวจรับบ้านจะต้องตรวจสอบค่อนข้างมาก เพราะมีหลายเรื่องในจุดเดียว ทุกช่องจะต้องไม่บิดเบี้ยว ไม่โย้หรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ตรวจสอบโดยการใช้สายตามองจากระยะที่ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ วงกบต้องแนบสนิทกับผนัง ไม่มีรอยบิ่น การเปิดปิดต้องไม่ตกรางโดยง่าย

8. ระบบไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าเป็นการตรวจสอบที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจรับบ้าน สามารถทำได้ง่าย ๆ ตั้งแต่การทดสอบเปิดไฟทุกดวง ให้ลองเปิดทิ้งสักระยะแล้วปิดแล้วเปิดใหม่ขึ้นทันที ทำอย่างน้อย 3 ครั้ง กับไฟทุกดวง เพื่อดูว่าระบบไฟทำงานดีหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบปลั๊กไฟ ทดสอบเสียบที่เต้าไฟฟ้าทุกตัวว่าทำงานได้ดีไหม

9. ระบบสุขาภิบาล

ส่วนสุดท้ายของการตรวจรับบ้าน เป็นระบบน้ำทั้งหมด ทดสอบโดยการเปิดก๊อกน้ำ รวมทั้งฝักบัวทุกตัวจนสุดเพื่อดูว่าน้ำไหลดีหรือไม่ มีก๊อกไหนที่ไหลอ่อนอย่างผิดปกติ ตรวจสอบการทำงานของมิเตอร์น้ำ โดยปิดน้ำทั้งบ้านเพื่อเช็คว่ามิเตอร์น้ำยังหมุนหรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ายังมีจุดน้ำรั่วที่จุดใดจุดหนึ่ง รวมถึงข้อต่อต่าง ๆ ของท่อน้ำ ตรวจสอบว่ามีจุดใดที่น้ำรั่วซึมไหม ถ้ามีรอยน้ำหยด ให้นำเศษผ้าที่เตรียมมาเช็ดให้แห้ง แล้วรอดูว่าจะยังมีน้ำรั่วออกมาอีกหรือเปล่า อย่าลืมทดสอบขังน้ำในอ่างล่างหน้าเพื่อดูการระบายน้ำออกได้ดีไหม

ตรวจรับบ้านเองกับจ้างบริษัทตรวจรับบ้านแตกต่างกันไหม

สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าควรจะตรวจรับบ้านเองหรือควรจ้างบริษัทตรวจรับบ้าน อย่างที่ได้เห็นข้อมูลข้างต้นจะพบว่าในการตรวจรับบ้านเองมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งบางเรื่อง หากเราไม่เชี่ยวชาญก็อาจจะพลาดจุดตำหนิไปบ้าง ดังนั้นหากคิดว่ามีเวลาและความพร้อมที่มากพอ การตรวจรับบ้านเองก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่สำหรับใครที่มองว่ารายละเอียดเยอะเกินไป และดูยุ่งยาก การจ้างบริษัทตรวจรับบ้านก็มีทางออกที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ได้ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางมาตรวจสอบและให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้นั่นเอง

สุดท้ายถ้าไม่อยากเสียผลประโยชน์ เจ้าของบ้านควรศึกษารายละเอียดเพื่อตรวจรับบ้านก่อนโอนอย่างรอบคอบ เพราะอย่าลืมว่าอำนาจและสิทธิในการแก้ไขซ่อมแซมยังคงเป็นของคุณเสมอ ตราบใดที่ยังไม่มีการรับโอนเกิดขึ้น


เครดิตแหล่งข้อมูล :baanbaan


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์