นำไม้พาเลทมือสองมาทำเฟอร์นิเจอร์คุ้มค่าหรือไม่


นำไม้พาเลทมือสองมาทำเฟอร์นิเจอร์คุ้มค่าหรือไม่

ในโลกออนไลน์มีกระแสเฟอร์นิเจอร์ DIY ให้นำไม้พาเลทที่ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเตียง โต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ แม้ว่าการทำเฟอร์นิเจอร์แบบนี้จะช่วยประหยัดและรักษ์โลก แต่ก็ควรทำความรู้จักกับไม้พาเลทให้ดีและพิจารณาว่า คุ้มค่ากับการลงแรงและเวลาหรือไม่ เพราะไม้พาเลทมือสองอาจมีคุณสมบัติและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้สอยที่ต้องการได้

ไม้พาเลทคืออะไร

ไม้พาเลทเป็นแท่นวางสินค้าสำหรับรองรับและกันกระแทกในระบบจัดเก็บและขนส่งสินค้า โดยทำมาจากไม้ยางพารา ไม้ก้ามปู หรือไม้ฉำฉาที่นำมาบดอัดให้เป็นแผ่น แล้วนำมาประกอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีช่องระหว่างแผ่นไม้ เนื่องจากเป็นที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรม จึงมีการผลิตหลายรูปแบบ หลายขนาด และหลายลักษณะ รวมถึงไม้พาเลทแบบมีล้อเลื่อนที่ใช้สำหรับการขนย้ายสินค้า

ไม้พาเลทมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

เราสามารถทราบคุณสมบัติของไม้พาเลทได้จากขนาด คือ

*80 x 120 x 15 เซนติเมตร แข็งแรงแต่มักส่งออกต่างประเทศ จึงไม่ค่อยพบในไทย

*100 x 110 x 15 เซนติเมตร เป็นขนาดสำหรับใช้แล้วทิ้ง จึงไม่ค่อยแข็งแรงทนทาน

*100 x 120 x 15 เซนติเมตร เป็นขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้และมีความแข็งแรงทนทานดี


เนื่องจากต้องใช้รองรับสินค้า ไม้พาเลทขนาดมาตรฐานจึงมีความทนทานและรับน้ำหนักได้สูงถึง 1-2 ตัน และเนื่องจากมีการประยุกต์ใช้ไม้พาเลทมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ จึงมีไม้พาเลทที่ผ่านการขัดเพื่อให้ผิวเรียบไม่มีเสี้ยน การฉีดน้ำยากันชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา และการฉีดน้ำยากันปลวกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อนำมาประกอบทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ลักษณะผิวลายไม้เปลือยของไม้พาเลทยังให้กลิ่นอายของความเรียบง่ายและความดิบ ซึ่งเหมาะกับบ้านดีไซน์แนวฮิปสเตอร์ ยุคอุตสาหกรรมหรืออินดัสเทรียล และเรโทร

เฟอร์นิเจอร์ประเภทใดที่ทำมาจากไม้พาเลท

จริง ๆ แล้ว การดัดแปลงไม้พาเลทมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ DIY นั้นขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ โดยทั่วไป นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ในห้องต่าง ๆ ดังนี้

*ห้องนอน ได้แก่ เตียง โต๊ะข้างเตียง เก้าอี้ ชั้นวางของ
*ห้องนั่งเล่น ได้แก่ โต๊ะกาแฟ โซฟา ชั้นวางทีวี ชั้นวางของ ชั้นเก็บของติดผนัง
*ห้องครัว ได้แก่ ที่แขวนถ้วย ชั้นวางขวดไวน์
*ห้องทานอาหาร ได้แก่ ชุดโต๊ะและเก้าอี้ทานอาหาร
*นอกตัวบ้าน ได้แก่ ชุดเก้าอี้กลางแจ้ง ชั้นวางกระถางต้นไม้ ชั้นวางรองเท้า

ไม้พาเลทมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
ไม้พาเลททั่วไปที่ผลิตมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าเท่านั้น อาจไม่ได้มีคุณภาพสำหรับนำมาใช้สอยในบ้านดังนี้

1. อาจมีรูปทรงโก่งงอบิดเบี้ยวหรือเนื้อไม้ร้าว ซึ่งเป็นผลจากการใช้งานหนักในการบรรทุกและขนส่งสินค้า จึงต้องตรวจสอบสภาพไม้พาเลทให้ดี

2. เป็นที่สะสมของแมลงต่าง ๆ เช่น มอด ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสุขอนามัยได้ ก่อนนำมาดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ จึงต้องตรวจสอบ กำจัดแมลง และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค

3. อาจมีเชื้อราโดยเฉพาะไม้พาเลทที่ใช้กับสินค้าประเภทอาหารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความชื้น จึงต้องทำความสะอาดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อน

4. มักมีผิวไม่เรียบและมีเสี้ยนที่อาจเป็นอันตรายได้ หากจะนำมาใช้ ก็ต้องขัดเสี้ยนออกและเคลือบผิวก่อน

5. หากใช้ไม้พาเลทที่ไม่ใช่ขนาดมาตรฐานยอดนิยม (100 x 120 x 15 ซม.) มาทำโต๊ะ เก้าอี้ เตียง ชั้นวางของ หรือเฟอร์นิเจอร์สำหรับรองรับน้ำหนักมาก ก็เสี่ยงที่จะแอ่นงอและหักได้

6. อาจสึกหรอจากการกัดกินของปลวกได้ หากไม่ได้ผ่านกรรมวิธีใส่สารป้องกันปลวก จึงไม่คงทน ใช้ได้ไม่นานก็อาจโค้งและหักได้

7. อาจมีสารพิษมาพร้อมกันด้วย ซึ่งเป็นอันตรายและไม่ควรนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยสามารถทราบว่ามีสารพิษและมีคุณสมบัติใดที่นำมาใช้งานได้หรือไม่นั้น ให้สังเกตที่ตราประทับบนไม้พาเลท

*ตราประทับ MB (Methyl Bromild) แสดงว่า ผ่านการรมสารพิษ ห้ามนำมาใช้เด็ดขาด
*ตราประทับ HT (Heat Treatment) แสดงว่า ผ่านการใช้ความร้อนฆ่าเชื้อ สามารถนำมาใช้งานได้
*ตราประทับ KD (Kiln Dried) แสดงว่า ผ่านการอบแห้ง สามารถนำมาใช้งานได้
*ตราประทับ DB (Debarked) แสดงว่า ผ่านมาตรฐานการผลิต IPPC ที่ช่วยป้องกันปลวก มอด และแมลงต่าง ๆ สามารถนำมาใช้งานได้

8. หากไม่ตราประทับใด ๆ สันนิษฐานได้ว่า ไม้พาเลทนั้นผ่านกรรมวิธีที่มีสารป้องกันเนื้อไม้ที่อาจเป็นอันตรายได้ จึงไม่ควรนำมาใช้งาน โดยเฉพาะการนำมาทำเป็นเตียง โต๊ะอาหาร และเก้าอี้

ไม้พาเลทมือสองมีราคาไม่แพงหรือทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อก็จริง แต่ก็ต้องคัดเลือกอันที่มีสภาพดี มีตราประทับที่บ่งบอกว่าปลอดภัยในการนำมาใช้งาน และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้สอย จึงจะคุ้มค่าที่จะนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่เพื่อความมั่นใจในความแข็งแรงคงทนยาวนาน อาจพิจารณาซื้อไม้พาเลทมือหนึ่งโดยตรงจากผู้ผลิตได้

เครดิตแหล่งข้อมูล :ddproperty


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์