8 เรื่องน่ารู้ ก่อนออกแบบสระว่ายน้ำในบ้าน
หน้าแรกTeeNee รีวิวบ้าน สวน บิลท์อิน ตกแต่ง ไอเดียในการต่อเติม ปรับปรุง 8 เรื่องน่ารู้ ก่อนออกแบบสระว่ายน้ำในบ้าน
เพราะสระว่ายน้ำส่วนตัวถือเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของบ้านที่สามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายและการผ่อนคลายในแต่ละวันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปพักผ่อนตามโรงแรม รีสอร์ท หรือชายหาด ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมของคนในครอบครัวแล้ว การมีสระว่ายน้ำไว้ในบริเวณบ้านยังสามารถเสริมภาพลักษณ์ที่สวยงามโดดเด่นให้ตัวบ้านสวยสะดุดตามากยิ่งขึ้น สำหรับใครที่กำลังคิดจะสร้างบ้านใหม่ให้มาพร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัว หรือคิดจะรีโนเวทพื้นที่เดิมรอบบ้านให้กลายเป็นมุมสระน้ำ แต่ยังไม่รู้ว่าเริ่มต้นจากอะไรจึงจะสามารถออกแบบสระว่ายน้ำให้เหมาะสมกับบ้านและการใช้งานมากที่สุด บทความนี้ forfur ได้รวบรวม 8 เรื่องน่ารู้ก่อนการสร้างสระว่ายน้ำในบ้านมาแนะนำเพื่อประกอบการตัดสินใจ
สำรวจก่อนสร้าง
ก่อนที่จะคิดก่อสร้างสระว่ายน้ำในบ้านแนะนำว่าควรเริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่รอบบ้านว่ามีขนาดเหมาะสมสำหรับการสร้างสระว่ายน้ำมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะมีขนาดพื้นที่ว่างที่ไม่ได้กว้างขวางมากนัก แต่ก็ควรมีขนาดที่ดินพอดีกับการก่อสร้างสระว่ายน้ำอย่างเหมาะสมโดยไม่มีขนาดเล็กจนเกินไป อย่างน้อยก็ควรมีสเปซพอสำหรับการว่ายน้ำออกกำลังกายอย่างเพียงพอ หากเป็นบ้านที่กำลังสร้างใหม่ก็จะช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลือกได้ว่าที่ดินขนาดเท่าใดที่จะสามารถสร้างเป็นสระว่ายน้ำในบ้านได้อย่างลงตัว และยังง่ายต่อการออกแบบบ้านไปพร้อมกับการจัดสรรพื้นที่โดยรอบให้เป็นโซนสระว่ายน้ำหรือมุมสวนของบ้านได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน แต่หากเป็นบ้านหลังเก่าที่ต้องการออกแบบสระว่ายน้ำเพิ่มเติมอาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้นมากกว่าบ้านสร้างใหม่ตรงที่ต้องมาเดินสำรวจพื้นที่รอบบ้านที่มีอยู่ให้แน่ใจว่าสามารถก่อสร้างสระว่ายน้ำได้หรือไม่ โดยควรวางแผนปรึกษาการก่อสร้างร่วมกับทีมสถาปนิกที่มีความชำนาญ เพื่อให้สามารถออกแบบคำนวนในการก่อสร้างสระว่ายน้ำได้อย่างลงตัวกับพื้นที่ใช้สอยมากที่สุด
กำหนดตำแหน่งสระว่ายน้ำ
การสร้างสระว่ายน้ำในบ้านที่ดีควรมีการกำหนดตำแหน่งและทิศทางของสระว่ายน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้พื้นที่รอบบ้านสวยงามลงตัวและมีบรรยากาศที่สอดคล้องกับการใช้งานอย่างพอดี โดยควรเลือกตำแหน่งของสระว่ายน้ำให้อยู่ในบริเวณที่สามารถสังเกตและมองเห็นได้จากพื้นที่ในบ้านที่มีการใช้งานอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังควรมีการคำนวนทิศทางของแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกช่วงเวลาของการใช้งานสระว่ายน้ำไม่อยู่ในทิศทางที่ต้องเผชิญแสงแดดจัดระหว่างวันมากจนเกินไป หากเป็นสระว่ายน้ำที่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้กับตัวบ้าน แนะนำว่าควรจัดวางตำแหน่งของสระว่ายน้ำไว้ในบริเวณทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของตัวบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จากร่มเงาของอาคารช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดที่สะท้อนผ่านผิวน้ำไปรบกวนการอยู่อาศัยภายในบ้าน และที่สำคัญคือไม่ควรกำหนดตำแหน่งของสระว่ายน้ำไว้ในบริเวณทิศตะวันออกและตะวันตก เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดมารบกวนในขณะว่ายน้ำ
เลือกโครงสร้างสระว่ายน้ำที่ลงตัว
สำหรับสระว่ายน้ำที่นิยมสร้างโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
สระว่ายน้ำแบบคอนกรีต เป็นสระว่ายน้ำที่มีโครงสร้างพื้นและผนังของสระว่ายน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงทำให้สระว่ายน้ำประเภทนี้มีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนานโดยไม่ต้องบำรุงรักษามากนัก อีกทั้งยังสามารถออกแบบรูปทรงของสระว่ายน้ำได้อย่างหลากหลายตามต้องการ
สระว่ายน้ำแบบสำเร็จรูป คือสระว่ายน้ำที่ได้รับการการผลิตขึ้นจากวัสดุโพลิเมอร์สำเร็จรูปมาจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว โดยสามารถนำมาติดตั้งบนพื้นที่ซึ่งมีการออกแบบโครงสร้างไว้สำหรับการติดตั้งสระว่ายน้ำสำเร็จรูปในบริเวณที่กำหนด จึงช่วยทำให้สามารถติดตั้งได้อย่างง่ายดาย
และนอกจากสระว่ายน้ำสำเร็จรูปแบบปกติที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปแล้ว ยังมีสระว่ายน้ำสำเร็จรูปอีกชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากโครงสร้างเหล็กหรือพลาสติดหล่อที่มีคุณภาพ ซึ่งปูด้วยผ้าไวนิลที่ได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้งานกับสระว่ายน้ำโดยตรง โดยมีการใช้แรงดันน้ำเพื่อบังคับให้ผ้าไวนิลติดไปกับโครงสร้างพื้นและผนังของสระว่ายน้ำ และเนื่องจากเป็นสระว่ายน้ำสำเร็จรูปที่ออกแบบจากโรงงาน จึงทำให้สระว่ายน้ำสำเร็จรูปประเภทนี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถออกแบบรูปทรงได้อย่างหลากหลายตามต้องการ และต้องเปลี่ยนผ้าไวนิลในระยะทุก 10 ปี แต่ก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือราคาค่อนข้างถูกกว่าสระว่ายน้ำประเภทอื่น อีกทั้งยังสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว
ระบบสระว่ายน้ำแบบไหนดี
ระบบสระว่ายน้ำที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ระบบด้วยกัน ได้แก่
ระบบ Over Flow หรือระบบน้ำล้น เป็นระบบที่มีการนำน้ำไปบำบัด ด้วยวิธีการทำให้น้ำในสระล้นออกมาบริเวณรางน้ำล้นด้านข้างสระว่ายน้ำที่มีการออกแบบเตรียมไว้ จากนั้นระบบจะมีการนำน้ำที่ล้นออกมาไปพักไว้บริเวณถังพักน้ำก่อนที่จะปั๊มน้ำเพื่อไปผ่านกระบวนการของเครื่องกรองน้ำในห้องเครื่องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สามารถนำน้ำหมุนเวียนมาใช้ได้อย่างสะอาดอยู่เสมอแล้ว การใช้ระบบสระว่ายน้ำประเภทนี้ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้สระว่ายน้ำของบ้านดูสวย เนื่องจากพื้นผิวของน้ำจะกลืนเต็มพื้นที่ในระดับเดียวของสระว่ายน้ำตลอดเวลา
ระบบ Skimmer เป็นระบบที่มีการนำน้ำไปบำบัด ด้วยการดีไซน์ช่องด้านข้างของผนังสระให้สามารถเป็นทางผ่านของน้ำไปสู่กระบวนบำบัด จึงทำให้การออกแบบสระว่ายน้ำด้วยระบบนี้จะมีระดับของผิวน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นขอบสระ อีกทั้งยังสามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าระบบสระว่ายน้ำประเภท Over Flow เนื่องจากระบบสระว่ายน้ำแบบ Skimmer ไม่จำเป็นต้องมีถังพักน้ำ และยังช่วยประหยัดน้ำได้ดีด้วยเช่นกัน
ระบบบำบัดน้ำที่เหมาะสม
นอกจากการออกแบบระบบสระว่ายน้ำแล้ว การสร้างสระว่ายน้ำที่ดียังควรมาพร้อมระบบบำบัดน้ำที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ระบบบำบัดในสระว่ายน้ำอยู่ 3 ระบบ ด้วยกัน
ระบบเกลือ สำหรับระบบบำบัดน้ำประเภทนี้เป็นระบบที่ใช้วิธีการฆ่าเชื้อโรคด้วยเกลือ ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่ดีต่อสุขภาพ เพราะสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวกายได้ดี แต่อาจจะต้องแลกมาด้วยราคาติดตั้งที่ค่อนข้างสูง และถึงแม้จะเป็นสระว่ายน้ำระบบเกลือแต่ก็ไม่ได้มีค่าความเค็มสูงเช่นน้ำทะเล แต่การใช้ระบบบำบัดน้ำประเภทนี้จะมีค่าความเป็นด่าง ซึ่งทำให้น้ำในสระว่ายน้ำมีรสกร่อยเล็กน้อยเท่านั้น
ระบบคลอรีน เป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่มีราคาถูกมากกว่าระบบบำบัดน้ำแบบเกลือ จึงเป็นระบบบำบัดน้ำที่ได้รับความนิยมใช้งานมากที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่คลอรีนจะอยู่ในรูปแบบของเหลวชนิดน้ำ คลอรีนแบบผง และคลอรีนแบบเม็ด โดยนำมาละลายลงในสระว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เมื่อค่า pH ในน้ำอยู่ที่ 7.2-7.8 สำหรับสระว่ายน้ำที่เลือกใช้ระบบคลอรีนและมีค่า pH ในน้ำต่ำหรือมีความเป็นกรดสูงเกินไป แนะนำให้เติมสารที่เป็นด่างเพื่อปรับค่า pH ในน้ำ หรือหากในน้ำมีค่าความเป็นด่างมากก็แนะนำว่าควรเติมสารที่มีค่าเป็นกรดลงไปก่อนที่จะละลายคลอรีนลงในน้ำเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรค แต่เนื่องจากสารคลอรีนที่ละลายอยู่ในน้ำอาจส่งผลระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงควรละลายคลอรีนลงในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคในช่วงเย็นหลังจากใช้สระว่ายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วจะดีที่สุด พร้อมกับการเปิดเครื่องกรองไว้ด้วยอย่างน้อยประมาณ 3-4 ชั่วโมง
ระบบโอโซน คือระบบสำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำโดยการผลิตก๊าซโอโซนจากเครื่องอัดอากาศเพื่อใช้สำหรับบำบัดน้ำในสระว่ายน้ำ แม้จะเป็นระบบบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะไม่มีสารตกค้างในสระว่ายน้ำ แต่ระยะเวลาที่สามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำจะค่อนข้างสั้นกว่าระบบบำบัดน้ำประเภทอื่น อีกทั้งยังมีราคาการติดตั้งที่แพงกว่า
รูปทรงของสระว่ายน้ำ
ส่วนมากแล้วจะนิยมออกแบบสระว่ายน้ำเป็นรูปทรงที่แตกต่างกันอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ สระว่ายน้ำรูปทรงเรขาคณิต และสระว่ายน้ำรูปทรงอิสระ
สำหรับบ้านที่ตกแต่งด้วยสไตล์โมเดิร์นทันสมัยหรือบ้านที่เน้นความสวย เท่ เรียบง่าย จะเหมาะสำหรับสระว่ายน้ำรูปทรงเรียบแบบเรขาคณิตที่มีความสอดคล้องกับรูปฟอร์มของบ้านที่ค่อนข้างมีความเรียบง่ายและทันสมัย แต่หากเป็นบ้านที่โดดเด่นด้วยสไตล์ทรอปิคอล หรือแบบบ้านที่มีกลิ่นอายย้อนยุคหน่อยจะเหมาะกับสระว่ายน้ำรูปทรงอิสระที่ช่วยสะท้อนความผ่อนคลายให้กับพื้นที่รอบบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ควรออกแบบให้สระว่ายน้ำมีรูปทรงซับซ้อนมากเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความยุ่งยากจากการปูกระเบื้องตกแต่งพื้นผิวของสระว่ายน้ำและการทำความสะอาดตามซอกมุมที่ยากจะเข้าถึง
วัสดุตกแต่งพื้นผิวสระว่ายน้ำ
การปูกระเบื้อง กระเบื้องที่มีขนาดเล็กและกระเบื้องโมเสกหลากสีคือหนึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งพื้นผิวของสระว่ายน้ำให้สวยงาม เพราะสามารถแต่งแต้มสีสันแบบไล่เฉดสีที่แตกต่างกันไปได้ตามความชื่นชอบ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้สระว่ายน้ำเกิดเป็นมิติที่สวยงามแล้ว ยังช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวบ้านได้อีกทางหนึ่ง แต่หากกระเบื้องตกแต่งสระว่ายน้ำยิ่งมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ก็จะมีรอยต่อระหว่างยาแนวมากเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นจุดสะสมของคราบสกปรกตามรอยต่อบนพื้นผิวของสระว่ายน้ำได้เช่นกัน
คอนกรีตขัดมันผสมสี ไม่เพียงการตกแต่งพื้นผิวของสระว่ายน้ำด้วยการปูกระเบื้องเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังนิยมตกแต่งพื้นผิวสระว่ายน้ำด้วยพื้นผิวคอนกรีตขัดมันผสมสี เพราะสามารถสร้างความสวยงามให้สระว่ายน้ำมีความกลมกลืนเป็นพื้นผิวที่ต่อเนื่องกันได้อย่างสวยงาม แต่ต้องยอมรับว่าการตกแต่งพื้นผิวของสระว่ายน้ำในลักษณะนี้จะมีโอกาสเกิดการรั่วซึมของน้ำได้มากกว่าสระว่ายน้ำที่ตกแต่งพื้นผิวด้วยการปูกระเบื้อง
เพียงแค่รู้หลักการก่อนสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน ก็สามารถเนรมิตสระว่ายน้ำในฝันให้สวยงามตรงใจและพร้อมตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอยในบ้านที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น